เทคนิคงานนำเสนอ..สไตล์เจ๊แซน

มาลองทำสไลด์ [powerpoint] กันแบบหลุดกรอบกันบ้าง แต่ไม่ต้องหลุดโลกเหมือนเจ๊นะคะ [sandyslides by sandstyles]

slide & presentation

งานนำเสนอส่วนใหญ่มักจะมีรูปแบบเดิมๆจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไม๊..ทำไมคนฟังถึงได้นั่งหลับ อยากจะนำเสนอได้อย่างเร้าใจต้องมาหัดทำสไลด์แบบเจ๊แซนรับรองว่าเข้าใจง่ายแน่นอน เจ๊แซนรับจ้างทำ งานนำเสนอ หรือ presentation ทั่วราชอาณาจักรด้วยนะคะไม่ว่าจะเป็นแบบส่งงานกับจารย์ งานวิจัย ขายของ อบรม แนะนำบริษัทฯ นำเสนอผลงานประจำปี หรือ โดนใบสั่งให้นำเสนองาน สนใจติดต่อ sandyslides@gmail.com ค่ะ

more about me..

เจ๊แซน เป็นสาวออฟฟิศที่ชอบไถงาน มีชีวิตแบบพอเพียง รักหมา ปากร้าย และสมาธิสั้น ชอบทำงานศิลปะ งานที่ทำมักจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลก่อนเสมอ จึงทำให้ได้บริหารสมองทั้งสองซีกจำเป็นต้องโกรกหงอกทุกเดือน ส่วนงานออกแบบการนำเสนอ หรือ powerpoint นั้นเป็นงานหนึ่งที่เจ๊ชอบเป็นอย่างยิ่ง มันท้าทายที่จะทำอย่างไรให้คนที่ดูสไลด์ของเจ๊แล้วไม่หลับ หวังไว้ว่าเทคนิคที่เจ๊นำมาแบ่งปันคงช่วยให้หลายคนทำสไลด์ได้สนุกขึ้นนะคะ

"ข้อมูล" กับ "ข้อมูลนำเสนอ" มันต่างกันยังไงน๊อ..


คำว่า "ข้อมูล" มักจะทำให้เราอุ่นใจเสมอ เปรียบเสมือนผู้หญิงเมื่อมีวันนั้นของเดือน ต้องพกของอย่างว่าเพื่อให้เรามั่นใจแบบไร้รอยต่อ การนำเสนอส่วนใหญ่มาจากการมีข้อมูลที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่มี สื่อสารได้แบบ "โต้ง-โต้ง" แปลเป็นไทยอีกที ก็คือ "ตกลง..ที่พูดมาทั้งหมดเอ็งจะเอาอะไรกันแน่ (ฟะ)"

มันก็ยากเอาการเหมือนกัน ที่จะสื่อสารข้อมูลอย่างไรให้เคลียร์ แต่เค้าก็มีหลักการเหมือนกันนะ ประมาณว่า "ข้อมูลในสไลด์..จริงๆแล้ว มันไม่ใช่แค่ข้อมูล ... แต่ข้อมูลมันต้องสื่อความหมายได้ด้วย" ผู้นำเสนอหลายคนไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายนี้เท่าไหร่นัก รวมทั้งตัวเจ๊แซนในช่วงแรกๆ ประเภทหลายครั้งที่ต้องเสียเวลาอธิบายกราฟ ว่ามันขึ้นลงยังไง โม้ไป 5 นาที แต่พอหลังจากโม้เสร็จ ก็หลงทางไม่รู้ว่า ตกลงตรูจะบอกอะไร (ฟะ)เนี่ยะ

นี่ล่ะคือปัญหา ที่ทำให้ต้องเสียเวลา.. ถ้าทำสไลด์ไม่ดีในการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนเยอะๆ นั่นหมายความว่า คุณต้องเสียเวลาเตรียมเอกสารเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ฟัง เพื่อให้เค้ามีเวลาทำความเข้าใจหลังจากที่คุณโม้เสร็จไปแล้ว ในทางกลับกัน หากคุณเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลที่ตรงประเด็น โดยใช้การจัดองค์ประกอบของภาพโชว์ข้อมูลนั้นๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดี ในการช่วยให้กลุ่มคนฟังเข้าใจมันได้ง่ายขึ้น

จริงๆแล้ว มีเทคนิคเรื่องนี้ ประมาณ 5 ข้อที่จะช่วยให้เราทำมันให้ง่ายขึ้น เริ่มเลยแล้วกัน

+ เล่าความจริง ไม่ต้องแหลมาก
+ ตรงประเด็น
+ เลือกใช้ข้อมูลนำเสนอ
+ ไฮไลท์ สิ่งที่สำคัญ
+ ทำให้ดูง่ายเข้าไว้

ส่วนรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ เจ๊แซนจะรีบนำมาแหล... เอ้ย ไม่ใช่สิ นำมาเล่าในตอนต่อไป อย่าลืมติดตามนะเออ

ทำสไลด์สวย ต้องจบกราฟฟิคดีไซน์หรือเปล่า

เจ๊แซนมักจะหงุดหงิดเสมอ หากมีใครมาชมว่า "ทำพรีเซนต์สวยจัง" เพราะพอได้ฟังคำนี้ทีไร ทำให้ชอบแอบคิดเสมอว่า "ดูสมองกลวงยังไงไม่รู้" จริงๆแล้ว การทำงานนำเสนอมันไม่ใช่แค่ วันๆนั่งแปะข้อมูล หรือ ประดิดประดอยให้สวยเฉยๆ แหม..ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เปลี่ยนคำชมจากคำว่า "สวย" เป็น "ทำยังไงอ่ะ..ดูเข้าใจง่ายจัง" เจ๊คงยิ้มไม่หุบเลยทีเดียว

อ่ะ..หลังจากบ่นไปเรียบร้อย มาเข้าเรื่องของเจ๊ที่อยากจะแชร์จากประสบการณ์การทำงานในการแต่งตัวให้น้องสไลด์ซักหน่อย อยู่องค์กรนี้มาก็ 7-8 ปี รู้สึกดีใจนิดๆ ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลุดจากกรอบเดิมๆ จากที่เคยทำมา จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ เจ๊มีโอกาสได้เป็นสาวโรงปูน ซึ่งที่นี่เจ๊ได้สะสมประสบการณ์ การแข่งขันเรื่องทำงานนำเสนอให้เริ่ด และไม่ทำให้นายขายหน้า ใครทำงานไม่โดน ถึงขนาดเก็บของแบบไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว มาองค์กรนี้นี่แหละ... สวยมากไม่ได้ เพราะทำให้คนอื่นเค้าเดือดร้อนนนนน นอกเรื่องซะนาน ขอหยิกหน่อยแล้วกัน เจ๊เก็บกดอย่างแรงง


งานนำเสนอไตล์เจ๊แซน ไม่ได้สอนว่ากดปุ่มนี้ เมนูนี้ แล้วจะออกมาสวย แต่จะแนะนำเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบโดยรวม ให้ดูง่าย สบายตา ตามหลักสากลทั่วไป ซึ่งนิยมใช้ในองค์กรชั้นนำทั่วโลก ซึ่งมันเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ไม่ใช่เจ๊นั่งทางในคิดออกมาเองได้นะคะ อย่าเพิ่งมากัดเจ๊ และแอบเหมาคิดไปเองว่า "ก็หล่อนจบกราฟฟิคมานี่หว่า..มันเลยออกมาดี" เจ๊อยากจะกัดหัวคนที่แอบคิดล่วงหน้าแบบนี้ ลองติดตามไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่างานของเจ๊ มันช่างเหมาะกับ น้องนักเรียน นักศึกษา, หนุ่มสาวออฟฟิศ วัยกระเตาะจนถึงวัยกระโตกกระตาก, นักอบรม วิทยากร, คุณครู อาจารย์ หรือ คุณน้าๆทั้งหลาย ที่อยากพัฒนางานนำเสนอให้มีประสิทธิภาพ โดยเจ๊ขอเฟิร์มนะคะว่า ถ้าติดตามเป็นแฟนคลับของเจ๊ สิ่งที่จะได้รับ ก็คือ


เข้าใจการออกแบบขั้นอนุบาล รู้จักเรื่องกราฟฟิค ดีไซน์ในชีวิตประจำวันทั่วไป การเลือกใช้สี การเลือกภาพ แม้กระทั่งการจัดวางเรียงเนื้อหา แค่นี้งานที่ออกมารับรองว่าไม่อนุบาลซักนิด


การวางองค์ประกอบได้อย่างลงตัว
+  สามารถสื่อสารออกมาเป็นรูปภาพ เข้าใจได้ง่ายขึ้น


มาลองดูตัวอย่างกัน ก่อนทำและหลังทำ เนื้อหาเกี่ยวกับสายการบินแห่งชาติในประเทศหนึ่งซึ่งเพิ่งจะประกาศล้มละลายมาไม่นานนี้



งานที่ออกมา ก่อนและหลัง ความเป็นมืออาชีพดูแตกต่างกันมาก ทั้งๆที่ตัวเนื้อหาเหมือนกัน เมื่อนำเสนอออกมา ความน่าสนใจจะเป็นเครื่องมือวัดตัวหนึ่งว่า เราสามารถสื่อสารได้ประสบความสำเร็จมาน้อยอย่างไร


อย่าลืมนะคะว่า "มนุษย์เรา โดยทั่วไปมักจะเรียนรู้จากการจดจำภาพได้ง่ายกว่าการอ่านเสมอ" แค่เทคนิคเล็กๆน้อยๆ รวมทั้งหมั่นฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะทำได้ออกมาเหมือนมืออาชีพ อย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนแล้วกันนะคะ เอาไว้เจอกันตอนต่อไป... เจ๊ขอบาย